สมุนไพรตามกลุ่มโรค | กลุ่มรักษาโรคบิดท้องร่วง

ที่มาและวัตถุประสงค์

สมุนไพรภายในสวน

- สมุนไพรตามกลุ่มโรค

- ตำรับพระโอสถพระนารายณ์

แผนผังสวน

กระชายเหลือง

(ชื่อวิทยาศาสตร์: Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.)

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่อสามัญ Chinese ginger, Chinese key

ชื่ออื่น    จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ระแอน (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ละแอน (ภาคเหนือ), ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)

ส่วนที่ใช้ เหง้า

สรรพคุณ

เหง้า แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องเดิน แก้ปวดมวนท้อง
ตำรายาไทย: เหง้า  ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด แก้ปวดมวนท้อง ขับลม ช่วยให้กระเพาะ และลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น แก้โรคอันเกิดในปาก แก้มุตกิด แก้ลมอันบังเกิดแต่กองหทัยวาต แก้ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากแตกเป็นแผล แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิดมูกเลือด แก้ปวดเบ่ง รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร ขับระดูขาว แก้ใจสั่น ราก(นมกระชาย) แก้กามตายด้าน ทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงความกำหนัด มีสรรพคุณคล้ายโสม หมอโบราณเรียกว่า “โสมไทย” หัวและราก ขับปัสสาวะ แก้กระษัย เบาเหลือง แดง เจ็บปวดบั้นเอว บำรุงกำหนัด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ใจสั่นหวิว ขับปัสสาวะ หัวใช้เผาไฟฝนรับประทานกับน้ำปูนใส เป็นยาแก้บิด แก้โรคบังเกิดในปาก แก้มุตะกิต
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของเหง้ากระชายร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
ตำรายาแผนโบราณของไทย: มีการใช้กระชายใน “พิกัดตรีกาลพิษ” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้พิษตามกาลเวลา 3 อย่าง มีรากกะเพราแดง เหง้าข่า และหัวกระชาย สรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงความกำหนัด แก้ไข้สันนิบาต แก้เลือด เสมหะ แก้กามตายด้าน
ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้เหง้า แก้โรคบิด โดยนำเหง้าย่างไฟให้สุกแล้วโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำปูนใส รับประทานทั้งน้ำและเนื้อ ครั้งละครึ่งแก้ว เช้า เย็น และใช้เหง้าแก้กลากเกลื้อน โดยนำเหง้ามาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็นแผล
ตำรายาพื้นบ้านล้านนา: ใช้เหง้า รักษาโรคทางดินปัสสาวะอักเสบ กลากเกลื้อน ท้องอืดเฟ้อ

วิธีใช้ยา:
           1. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง ใช้เหง้า หรือรากประมาณครึ่งกำมือ(น้ำหนักสด 5-10 กรัม แห้ง 3-5 กรัม) ทุบพอแตกต้มกับน้ำพอเดือด ดื่มแต่น้ำ หรือปรุงอาหารรับประทาน
           2. แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกหรืออาจมีเลือดด้วย) ใช้เหง้าหรือหัวสดครั้งละ 2 หัว (ประมาณ 15 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใส คั้นเอาน้ำดื่ม
สารประกอบทางเคมี:
           พบน้ำมันระเหยง่าย 0.08% ประกอบด้วย 1,8 cineol, boesenbergin A, dl-pinostrobin, camphor, cardamonin, panduratin นอกจากนี้ยังพบสาร flavonoid และ chromene เช่น, 6- dihydroxy – 4 – methoxychalcone, pinostrobin, pinocembin    
 การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
       การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคนที่แยกได้จากรากกระชาย โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย IFN-γ และ LPS (lipopolysaccharide) พบว่า Boesenbergin A สามารถต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง
      การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคนที่แยกได้จากรากกระชาย ทดสอบในเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ที่แยกได้จากคน ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (A549), เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก (PC3), เซลล์มะเร็งตับ (HepG2), เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HT-29) และเซลล์ตับปกติ (WRL-68) โดยใช้การตรวจสอบด้วยวิธี 3-(4,5-dimethylthiazol-2-yl)-2,5-diphenyltetrazolium bromide MTT assayพบว่ามีค่าการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง โดยมีค่า ความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 20.22 ± 3.15, 10.69 ± 2.64, 20.31 ± 1.34, 94.10 ± 1.19 และ 9.324 ± 0.24 μg/mL ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน Paclitaxel มีค่า IC50 เท่ากับ 5.81 ± 1.03, 0.08 ± 0.03, 1.18 ± 0.24, 0.06 ± 0.02 และ 0.10 ± 0.05 μg/mL ตามลำดับ แสดงว่าสาร Boesenbergin A จากรากกระชาย เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด แต่ก็มีพิษต่อเซลล์ตับปกติสูงด้วย (Isa, et al., 2012)
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
       การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ของ Boesenbergin A ซึ่งเป็นสารกลุ่มชาลโคน ที่แยกได้จากรากกระชาย โดยใช้การตรวจสอบด้วยวิธี ORAC assay (The oxygen radical absorbance capacity  assay)ซึ่งเป็นการวัดความสามารถของสารทดสอบในการยับยั้งอนุมูลเปอร์ออกซี (peroxy radicals) โดยใช้ quercetin เป็นสารมาตรฐาน การรายงานผลเป็นความเข้มข้นเทียบเท่ากับ Trolox (สารต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นอนุพันธุ์ของวิตามินอี) หรือ Trolox equivalents ผลการทดสอบพบว่า Boesenbergin A ขนาด 20 μg/mLและ quercetin ขนาด 5μg/mLออกฤทธิ์ได้เทียบเท่ากับ  Trolox 11.91 ± 0.23 และ 160.32 ± 2.75 μM ตามลำดับ  (Isa, et al., 2012)

ที่มา

หนังสือ ชื่อพรรไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตานันท์ หน้า 81

http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=3

 

 

| จัดทำโดยกองเภสัชกรรม โรงพยาบาลอานันทมหิดล |